2 dec land content 01
05 Dec 2019 07:00

5 ธันวารำลึกวันดินโลก สะท้อนพระปรีชาสามารถของร.9 ไปทั่วปฐพี

วันที่ 5 ธันวาคมนอกจากเป็นวันชาติไทยแล้วยังเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญที่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ประกาศให้เป็น 'วันดินโลก' พร้อมทั้งยังมีโครงการพระราชดำริเกี่ยวกับดินของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อการก่อตั้งวันดินโลกมาบอกกันอีกด้วย

ประวัติ 'วันดินโลก'
วันดินโลก (World Soil Day) ถูกกำหนดขึ้นมาตามมติขององค์การสหประชาชาติ ในระหว่างการประชุมคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจและการเงินของที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญที่ 68 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ. 2556 ให้วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันดินโลก (World Soil Day) และกำหนดให้ปี พ.ศ. 2558 เป็นปี ดินสากล (International Year of Soils) โดยมีจุดประสงค์เพื่อเป็นการส่งเสริมและสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความสำคัญของทรัพยากรดินต่อการพัฒนาด้านการเกษตร โภชนาการ และความมั่นคงทางอาหาร ทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ



ทั้งนี้สาเหตุที่กำหนดให้วันดินโลกตรงกับวันที่ 5 ธันวาคมนั้นสืบเนื่องมาจากการประชุมสภาโลกแห่งปฐพีวิทยา (World Congress of Soil Science) ครั้งที่ 17 เมื่อปี พ.ศ. 2545 ทางสหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ (International Union of Soil Sciences) ได้ตระหนักถึงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในการพัฒนาทรัพยากรดิน 

ดังนั้น การเกิดขึ้นของวันดินโลกจึงมีความเกี่ยวข้องกับกรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สมาคมดินและปุ๋ยแห่งประเทศไทย สหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ (International Union of Soil Science : IUSS) องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization : FAO) และองค์การสหประชาชาติ (United Nations : UN)

โครงการในพระราชดำริ ในหลวงรัชกาลที่ 9



1.โครงการศึกษาฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม
เป็นศูนย์การศึกษาวิจัยและสาธิตวิธีการฟื้นฟูปรับปรุงที่ดินเสื่อมโทรม ตั้งอยู่ที่บ้านเขาชะงุ้ม หมู่ที่ 2 ตำบลเขาชะงุ้ม อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี เพื่อเป็นรูปแบบและส่งเสริมอาชีพเกษตรกรที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกับพื้นที่โครงการได้เรียนรู้วิธีการจัดการดิน น้ำ และพืชอย่างถูกต้อง มีความยั่งยืนไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมและให้กลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง ทำให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น



2.โครงการแกล้งดิน
ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงทราบถึงความเดือดร้อนของประชาชนชาวภาคใต้ โดยเฉพาะเกษตรกรจังหวัดนราธิวาสที่ประสบปัญหาดินเปรี้ยวทำให้เพาะปลูกไม่ได้ พระองค์จึงมีพระราชดำริให้ทำการศึกษาและพัฒนาดินพรุแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยว ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง โดยวัตุประสงค์คือเปลี่ยนเป็นดินมีคุณภาพให้ประชาชนทำการเพาะปลูกได้ วิธีการแกล้งดินเริ่มจากการทำให้ดินเปรี้ยวสุดขีดเพื่อเร่งปฏิกิริยาทางเคมีของดินพรุที่มีสารประกอบของกำมะถันทำให้ดินมีสภาพเป็นกรดจัด จากนั้นทำการปรับปรุงดินด้วยวิธีการต่าง ๆ ที่ช่วยลดความเป็นกรดลงมาให้อยู่ระดับที่สามารถเพาะปลูกพืชได้



3.โครงการหญ้าแฝก
ในหลวงราชที่ 9 ทรงศึกษาเรื่องการใช้หญ้าแฝกในการอนุรักษ์ดินและน้ำจากเอกสารธนาคารโลกที่นาย Richard Grimshaw ได้ทูลเกล้าฯ ถวาย พระองค์ได้พระราชทานพระราชดำริโครงการหญ้าแฝก โดยให้ทดลองปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการพังทลายของดิน ในปัจจุบันมีหน่วยงานต่าง ๆ ได้ดำนเนินงานสนองพระราชดำริการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอย่างมากมายหลายพื้นที่ด้วยกัน



4.โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน
โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน ตั้งอยู่ที่อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นพื้นที่ที่ราษฎรน้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินจำนวน 216 ไร่ พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นสภาพความทุรกันดารของพื้นที่จึงมีพระราชดำริให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ณ พื้นที่ดังกล่าวรวมทั้งหมู่บ้านรอบ ๆ ศูนย์อีกด้วย โดยวางแผนปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ ทั้งยังให้ศูนย์การพัฒนาเขาหินซ้อนเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าและสนามทดลองทางด้านการเกษตรกรรม เพื่อให้เกษตรกรและผู้ที่สนใจเข้ามาดูงานนำแนวพระราชดำริไปปฏิบัติตาม เพื่อพัฒนาอาชีพและพื้นที่ของตน



5.โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย
เป็นหนึ่งในโครงการพระราชดำริที่ตั้งอยู่อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี พื้นที่แห่งนี้้เคยมีความอุดมสมบูรณ์ที่มากมาก่อนถูกราษฎรเข้าบุกรุกทำลายป่าเพื่อประกอบอาชีพเกษตรกรรม จึงเกิดพื้นที่แห้งแล้ง ฝนไม่ตกตามฤดูกาล และสภาพดินเสื่อมโทรมอย่างหนัก จนไม่สามารถทำการเกษตรได้ พระองค์จึงพระราชทานพระราชดำริให้พัฒนาพื้นที่บริเวณห้วยทราย เป็นศูนย์ศึกษาด้านป่าไม้อเนกประสงค์



6.โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮองไคร้
ตั้งอยู่ที่อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ศูนย์แห่งนี้ได้นำพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาใช้ในการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติทั้งด้านทรัพยากรต้นน้ำ ด้านการเกษตรกรรม ด้านปศุสัตว์และโคนม และด้านอุตสาหกรรม ประชาชนทั่วไปสามารถเข้ามาเรียนรู้และนำสิ่งที่ได้ไปปฏิบัติใช้ได้จริง

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงบางส่วนของโครงการในพระราชดำริเกี่ยวกับดินของในหลวงรัชกาลที่ 9 เท่านั้น นอกจากนี้ยังมีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่เกี่ยวกับการเกษตรมากกว่า 4,000 โครงการ ล้วนเกี่ยวกับการพัฒนาและปรับปรุงดินแทบทั้งสิ้น 



"อันที่จริงเราชื่อ "ภูมิพล" ที่แปลว่า "กำลังของแผ่นดิน" แม่ก็อยากให้เธออยู่กับดิน เมื่อฟังคำพูดแล้วกลับมาคิด ซึ่งแม่คงจะสอนเราและมีจุดมุ่งหมายว่าอยากให้ติดดินและอยากให้ทำงานให้แก่ประชาชน" - พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9

FAO, WorldSoilday, 5December