00 blog cover
13 Dec 2019 19:00

คุยหลังเลนท์กับช่างภาพสตรีทผ่าน "Street Photography"

"ภาพถ่ายหมื่นรูปแรกของคุณ เป็นรูปที่ห่วยที่สุด" - Henri Cartier-Bresson 

Eventpop มีโอกาสได้เข้าร่วมฟังงาน "เทคนิคขั้นเซียน Street photography" ที่จัดโดยทิพยประกันภัย ณ  Inspiration Chamber ชั้น 22 งานนี้เหล่าช่างกล้องมือสมัครเล่นได้เข้าร่วมเพื่อรอฟังเทคนิคดี ๆ จากผู้เชี่ยวชาญและมากประสบการณ์กับภาพถ่ายแนวสตรีท





"ภาพสามารถบ่งบอกถึงตัวตนของเราได้ว่าเป็นคนยังไง" คำพูดของคุณทวีพงษ์ ประทุมวงษ์ เป็นหนึ่งในช่างภาพสตรีทที่ได้รับการยอมรับระดับโลกว่ามุมมองและการถ่ายทอดโลกแห่งความเหนือจริงของเขานั้นน่าสนใจอยู่เสมอ เขาเล่าถึงประสบการณ์ต่าง ๆ ตอนที่ตัวเองเริ่มถ่ายภาพ คือการออกไปเดินเล่นดูโลกภายนอกโดยที่ไม่รู้เลยว่าจะได้รูปอะไร และเป็นรูปที่ดีหรือเปล่า แล้วเราก็แปรมันด้วยมุมมองของเรา เปลี่ยนให้ภาพธรรมดา ๆ ภาพหนึ่ง กลายเป็นภาพที่มีมุมมองของเรา ไม่ว่าจะเป็นการจัดองค์ประกอบภาพ ทำให้บางภาพที่ดูธรรมดาเป็นภาพที่เหนือจริงขึ้นมาซึ่งผลลัพธ์นั้นถ้ามันดีจริงๆ มันจะเป็นผลงานที่ภูมิใจกับมันได้


  
ทุกครั้งที่ได้ออกไปถ่ายรูป "เป็นเหมือนเกมของเรากับภาพที่อยู่ตรงหน้าเพราะถ้ายอมแพ้ตั้งแต่ครั้งแรกก็อาจจะไม่ได้รูปที่ดีที่สุด" คุณทวีพงษ์ยังกล่าวอีกว่าเวลาไปถ่ายภาพกดชัตเตอร์ไม่ต่ำกว่า 20 ครั้งต่อ 1 ภาพที่ได้มา เพื่อเลือกภาพที่ดีที่สุดมาแค่ร้านเดียว เพราะไม่มีใครถ่ายสวยเพียงแค่ลั่นชัตเตอร์เพียงครั้งเดียวต้องค่อย ๆ ปั้นรูปไปเรื่อย ๆ 



อย่างตอนที่เขาไปถ่ายภาพตามงานต่าง ๆ นอกจากจุดสนใจของงาน เราอาจจะเปลี่ยนเป็นเดินรอบงาน ไม่ต้องอยู่แค่จุดนี้จุดเดียว บางครั้งการที่เราออกไปค้นหาอาจจะได้เจอกับอะไรที่ดีกว่าก็เป็นได้ อย่างภาพ 'The Horizon' สถานที่ชายหาดเมืองไบรตัน ประเทศอังกฤษ เป็นภาพที่ถ่ายต่างจากคนอื่นตรงที่เสาพวกนั้นถูกปล่อยร้างไม่ได้เป็นจุดน่าสนใจ เขากลับมีมุมมองที่ต่างกันโดยการลั่นชัตเตอร์ไปเรื่อย ๆ จนได้ภาพนี้ออกมาคือเสาพวกนั้นดูสูงพอดีกับขอบน้ำทะเล และดันโชคดีมีเด็กกำลังวิ่งไปมาทำให้ภาพนี้ดูมีชวิตไม่นิ่งจนเกินไป 



เขากล่าวอีกว่า "ชอบภาพที่ฟลุ๊คที่สุด เป็นรูปเด็กเหมือนอยู่บนพรมที่บินได้ คือน้องคู่นี้เล่นผ้าห่มกันอยู่ เราก็ไปถ่าย เขารู้ตัวว่าเรากำลังถ่ายก็เลยวิ่งหนี ตอนนั้นไม่ได้คิดอะไรเลยว่าจะได้รูปอะไรมา กดถ่ายไปแบบรัว ๆ ไม่ได้ดูรูปประมาณครึ่งชั่วโมงพอกลับมาดูอีกทีปรากฎว่าเราได้รูปที่ชอบมาก มันเหมือนน้องเค้าวิ่งแล้วผ้าเป็นสามเหลี่ยมลอยมา ขาน้องหายไป เป็นโมเมนท์ที่เราไม่คาดว่าจะได้รูป ความคลาสิกคือตอนทำหนังสือ Photo Book ได้เลือกรูปนี้เป็นรูปปก"



และสิ่งที่ทำให้คุณทวีพงษ์ก้าวต่อไปอีกขั้น จากการที่เขาได้รางวัลชนะเลิศจากการประกวด Miami Street Photography Festival 2014 มามีฝรั่งถามว่า "คุณได้ใช้ Photoshop หรือเปล่า ?" สำหรับช่างภาพแนวสตรีทอย่างเขา การได้ยินคำถามแบบนี้ถือว่าประสบความสำเร็จของการภ่ายภาพ



มินตรา วงศ์บรรใจ ช่างภาพอิสระผู้ที่ได้รับแรงบันดาลใจและแนวคิดจากสิ่งต่าง ๆ รอบตัว เธอมีความพยายามอย่างมากในการสื่อสารเรื่องราวและเล่าเรื่องอย่างเงียบ ๆ ผ่านภาพถ่าย 



เธอได้ไปเรียนต่อต่างประเทศ แรงบันดาลใจของเธอก็คือการถ่ายภาพตอนกลางคืนและถ่ายภาพบ้าน เนื่องจากกลางคืนได้นั่งรถแล้วมองไปที่บ้านต่าง ๆ เธอนึกถึงครอบครัวของเธอ "มันเป็นความรู้สึกฝังลึก เราคิดว่าเอาเรื่องที่เรารู้สึกตลอดมาทำ แล้วเราจะทำมันได้ดีเพราะเรารู้จักมันดี" 




เธอชอบเดินถ่ายภาพไปเรื่อย ๆ แต่การที่เธอเป็นผู้หญิงก็เป็นอุปสรรคสำหรับเธอเหมือนกัน เพราะเป็นช่วงกลางคืนทั้งถือกล้อง ทั้งเปลี่ยว บางบ้านเห็นเราถ่ายเขาก็ปิดไฟ ปิดม่าน แต่หลัง ๆ ก็ขอเจ้าของบ้านบอกว่าถ่ายภาพเพื่อส่งงานอาจารย์ที่มหาวิทยาลัย เขาก็ยินดีที่จะให้ถ่าย 




หลาย ๆ คนชอบถามว่าทำไมถ่ายภาพแนวนี้ ยิ่งดูภาพมันเหมือนกับ Homesick คุณมินตราตอบว่า "แต่เรามองว่าการที่เราอยู่ไกลบ้าน การได้เห็นภาพพวกนี้ที่เราถ่ายเอง สำหรับเรามันก็ค่อนข้างเป็นการบำบัดตัวเอง ไม่ใช่ว่าเราคิดถึงบ้านน้อยลง มันอาจจะเป็นความสุขเหมือนนักร้องที่ได้ออกไปร้องเพลง ถ้าไม่ได้ร้องกฌช็เหมือนไม่ได้ระบาย แต่ของเราเป็นการถ่ายภาพแทน" 



การออกมาถ่ายภาพในทุก ๆ วันเป็นสิ่งที่ทั้งสองคนรักและทุ่มเท "แม้วันหนึ่งกายจะไม่อยู่ ชื่อจะถูกลืม แต่สิ่งที่จะอยู่คือผลงาน" 

#Streetphotography #dhipayainsurance

dhipayainsurance, Streetphotography